วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์

 วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์

     วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด ทั้งที่เป็นเหล็ก และโลหะนอกกลุ่มเหล็ก วัสดุเหล่านี้มีอาทิ เช่น เหล็กกล้าคาร์บอน หล็กกล้าผสม เหล็กกล้าไร้สนิม เหล็กหล่อ และอลูมิเนียม เป็นต้นการเลือกใช้วัสดุให้ถูกต้องกับการสร้างแม่พิมพ์แต่ละประเภท ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทำให้สามารถสร้างแม่พิมพ์ได้อย่างเหมาะสมตามคุณสมบัติของการใช้งาน สามารถสร้างแม่พิมพ์ได้ง่าย แม่พิมพ์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สำหรับแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ และแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะประกอบด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นตัวแม่พิมพ์ในส่วนที่ต้องสัมผัสกับชิ้นงาน และส่วนประกอบต่าง ๆ ของแม่พิมพ์ ซึ่งชิ้นส่วนแต่ละตัวอาจมีคุณสมบัติที่เหมือนกัน หรือ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนนั้น ๆ จะต้องถูกใช้งานในลักษณะใด เช่น ต้องทนการเสียดสีสูง ต้องทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ต้องสัมผัสกับความร้อน หรือต้องรับแรงกระแทก เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาเรื่อง ชนิดวัสดุทำแม่พิมพ์ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านแม่พิมพ์ โดยจะขอกล่าวถึงชนิดวัสดุทำแม่พิมพ์เป็นข้อ ดังนี้

เหล็กหล่อ (Cast Iron)
    
      แม่พิมพ์ ปั๊มขึ้นรูปโลหะขนาดใหญ่ เช่น แม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูป ประตู และตัวถังรถยนต์ จำเป็นต้องใช้เหล็กหล่อเป็นฐานรองแม่พิมพ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสร้างแม่พิมพ์ เนื่องจาก ถ้าแม่พิมพ์ขนาดใหญ่นี้ ทำจากเหล็กแม่พิมพ์ทั้งหมด แม่พิมพ์จะมีราคาแพงมาก และไม่มีความจำเป็น การใช้งาน จะทำการหล่อเหล็กให้มีขนาดตามที่ต้องการ จากนั้น จะมีการอบด้วยความร้อน เพื่อให้เหล็กคลายความเค้นจากการเย็นตัวในแบบ จากเหล็กหลอมเหลวไปเป็นของแข็ง นอกจากนี้ การอบคลายความเค้น จะทำให้เหล็กมีรูปร่างที่แน่นอนไม่บิดงอในขณะที่ใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับแม่พิมพ์ เมื่ออบคลายความเค้นแล้ว จะนำฐานแม่พิมพ์เหล็กหล่อนี้ไปทำการตกแต่งตามแบบ เพื่อให้ตัวแม่พิมพ์ฝัง (Insert) อยู่บนฐานเหล็กหล่ออย่างถูกต้องเหมาะสม
เหล็กหล่อที่มักใช้หล่อเป็นฐานของแม่พิมพ์จะเป็นเหล็กหล่อสีเทา (Gray Cast Iron) เหล็กหล่อสีเทาจะเป็นเหล็กหล่อที่มีราคาไม่สูงนัก เนื่องจากไม่มีธาตุผสมที่มีราคาแพงเติมลงไป นอกจากนี้ เหล็กหล่อสีเทายังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับการใช้เป็นฐานรองแม่พิมพ์หลายประการ ดังนี้
ก.  สามารถตกแต่งด้วยเครื่องมือกลได้ง่าย
ข.  สามารถหล่อได้ง่าย เนื่องจากมีจุดหลอมเหลวไม่สูงนัก มีความสามารถในการไหลในแบบได้ดี ทำให้สามารถหล่อชิ้นงานที่มีรูปร่างซับซ้อนได้ง่าย
ค.  เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวน้อย จึงเหมาะกับการทำฐานรองแม่พิมพ์ ที่ต้องการคุณสมบัติด้านรูป   ร่าง และขนาดที่แน่นอน
ง.  มีความสามารถต้านทานแรงอัด และสามารถรับแรงสั่นได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีในการใช้เป็นฐานรองแม่พิมพ์ รวมทั้งฐานรองเครื่องจักรกลต่าง ๆ ด้วย
จ.  สามารถเพิ่มคุณสมบัติด้านความต้านทานแรงดึงได้มาก โดยการปรับปรุงส่วนผสม และการอบชุบด้วยความร้อน
เหล็กหล่อสีเทาที่ใช้ทำฐานแม่พิมพ์ตามมาตรฐานของ JIS จะอยู่ในชั้นคุณภาพ FC 25 และ FC 30 สำหรับชั้นคุณภาพ FC 25 มีความเค้นแรงดึงต่ำสุด 25 kg/mm2 และชั้นคุณภาพ FC 30 มีความเค้นแรงดึงต่ำสุด 30 kg/mm2

เหล็กกล้าทั่วไป (Mild Steels)

     เหล็กกล้า ทั่วไปจะจัดอยู่ในกลุ่มของเหล็กล้าคาร์บอนต่ำ      (Low Carbon Steels) โดยมีคาร์บอนสูงสุดไม่เกิน 0.25% โดยน้ำหนัก เป็นเหล็กที่มีราคาถูก ขึ้นรูปได้ง่าย เนื่องจากมีความแข็งต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถทำการเชื่อมได้ดี จึงใช้ทำโครงสร้างทั่วไปของแม่พิมพ์ ในส่วนที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก เกรดที่นิยมใช้งานจะเป็นเกรด SS 40 และ SS 41

เหล็กชุบผิวแข็ง (Case Hardening Steels)

     เหล็กชุบผิวแข็งที่มักใช้ทำแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกได้แก่ เกรด AISI P2 และ P4 (ไม่สามารถเทียบเกรดได้ตาม JIS) แม่พิมพ์จะถูกนำไปทำการเสริมคาร์บอนที่ผิว (Carburizing) ทำให้แม่พิมพ์มีความแข็งผิวสูงประมาณ 58-62 HRC ส่วนแกนในจะมีความแข็งประมาณ 25-35 HRC คุณสมบัติผิวแข็งแกนเหนียวนี้ จะทำให้แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกทนทานต่อการสึกหลอได้ดี และยังคงความเหนียวของแกนใน ทำให้รับแรงอัด และแรงกระแทกได้ดีด้วย ผิวที่แข็งนี้ จะทำให้การขัดเงาแม่พิมพ์ทำได้ดี แต่การนำแม่พิมพ์ไปชุบผิวแข็งจะมีข้อเสียคือ หลังการชุบแข็งที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง และบังคับให้ชิ้นงานเย็นตัวอย่างรวดเร็วในสารชุบ จะทำให้เกิดการเสียรูป และเปลี่ยนขนาดได้ง่าย ดังนั้น ต้องมีการเผื่อขนาดเพื่อนำมาเจียรนัยตกแต่งภายหลังด้วย


เหล็กกล้าคาร์บอนปานกลาง (Medium Carbon Steels)Cr.www.plastic.freevar.com

     เหล็กกลุ่มนี้ที่มักใช้ ในงานแม่พิมพ์จะเป็นเกรด S 45 C หรือ S 50 C โดยทั่วไป จะนิยมใช้ทำโครงแม่พิมพ์ เช่น แผ่นประกบหน้า-หลัง ขารอง (Spacer Block) แผ่นรองรับ (Backing Plate หรือ Retaining Plate) นอกจากนี้ เหล็กในกลุ่มนี้ยังสามารถใช้ทำตัวแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ที่ใช้ฉีดชิ้นงานจำนวนไม่มากนัก โดยสามารถขึ้นรูปเป็นแม่พิมพ์ แล้วนำไปชุบเคลือบผิวแข็งฮาร์ดโครมก่อนนำไปใช้งาน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นแผ่นโครงสำหรับใช้เป็นฐานฝัง (Insert) ตัวแม่พิมพ์ได้ ในทางการค้ามักเรียกเหล็กพวกนี้ว่า “เหล็กหัวแดง

เหล็กกล้าคาร์บอนเครื่องมือ (Carbon Tool Steels)

    เหล็กใน กลุ่มนี้ จะมีคาร์บอนผสมอยู่ระหว่าง 0.60-1.40 % เป็นเหล็กชุบแข็งด้วยน้ำ ภายหลังการชุบแข็งที่ผิวชิ้นงานจะมีความแข็งสูงระหว่าง 65-68 HRC แต่เนื่องจากเหล็กเกรดนี้มีความสามารถในการชุบแข็งต่ำ จึงทำให้ภายในชิ้นงานจะมีความแข็งไม่สูงนัก ลักษณะเช่นนี้ ชิ้นงานจะมีผิวแข็ง แต่แกนในยังคงมีความเหนียวอยู่ ชิ้นงานจะทนการเสียดสีได้ดี และรับแรงกระแทกได้ดีด้วย แม่พิมพ์ที่ทำจากเหล็กกลุ่มนี้ จะทนการเสียดสีได้ดี แต่ไม่สามารถใช้งานที่อุณหภูมิสูงได้ มักใช้ทำแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ เช่น แม่พิมพ์ ตัด เจาะ โลหะบาง ๆแม่พิมพ์ที่ใช้ในงานขึ้นรูปเย็นที่ใช้ผลิตชิ้นงานจำนวนไม่มากนัก เป็นต้น และเนื่องจากเป็นเหล็กที่ชุบแข็งด้วยน้ำ ทำให้ชิ้นงานมีโอกาสที่จะเกิดการคดงอ และแตกร้าวภายหลังการชุบแข็งได้ ตามมาตรฐานของ JIS จะอยู่ในกลุ่มเหล็กเกรด SK 1 ถึง SK 7 แต่ที่นิยมใช้ และสามารถหาซื้อได้ง่ายภายในประเทศจะเป็นเกรด SK 3 และ SK 5

เหล็กทำแม่พิมพ์พลาสติก (Plastic Mold Steels)

     เหล็ก ในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันภายในประเทศ จะเป็นเหล็กที่ผ่านการชุบแข็ง และอบคืนตัวที่อุณหภูมิสูง (Pre-hardened Steels) เพื่อปรับให้ความแข็งลดลงเหลือประมาณ 28-40 HRC เหมาะสำหรับทำแม่พิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเมื่อทำการขึ้นรูปด้วยเครื่องมือกล และนำมาขัดผิวให้เป็นมันเงาแล้ว สามารถนำไปใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องนำมาชุบแข็งอีก ทำให้ไม่เกิดปัญหาด้านการบิดงอ และเสียรูป แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแม่พิมพ์ผ่านการขึ้นรูปด้วยเครื่องมือกลมาก่อน ดังนั้น ควรนำไปอบคลายความเค้นก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นงานบิดตัวขณะใช้งาน เหล็กในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้จะเป็นเกรด AISI P21,   P20,   P20 + S อักษรS หมายถึงเติมซัลเฟอร์ลงไปด้วยเพื่อให้ขึ้นรูปด้วยเครื่องมือกลง่าย เหล็กในกลุ่มนี้ สามารถใช้กับแม่พิมพ์ ฉีด เป่า แม่พิมพ์อัดขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติกได้ดี

เหล็กกล้าผสมเครื่องมืองานเย็น (Alloy Tool Steel Cold Work)
  
     เหล็ก กล้าผสมเครื่องมืองานเย็น ได้ถูกนำมาใช้งานกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ ทั้งความแข็ง ความเหนียว และทนการกัดกร่อน เหล็กกล้าผสมเครื่องมืองานเย็นสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ชุบแข็งด้วยน้ำมัน กลุ่มที่ชุบแข็งด้วยลมเป่า และกลุ่มที่มีส่วนผสมของคาร์บอนสูง และโครเมียมสูง ดังมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
          กลุ่มที่มีธาตุผสมต่ำชุบแข็งด้วยน้ำมัน ที่นิยมใช้กันจะเป็นเกรด JIS SKS 3 และเนื่องจากชุบแข็งด้วยน้ำมัน จึงลดการบิดงอ และลดความเสี่ยงต่อการแตกร้าวขณะชุบแข็งได้ดีกว่าเหล็กกล้าคาร์บอนเครื่อง มือที่ชุบแข็งด้วยน้ำ เหล็กกลุ่มนี้เป็นเหล็กที่มีราคาไม่สูงนัก ใช้ทำเครื่องมือแกะสลักโลหะอ่อน ดอกสว่านเจาะชิ้นงานที่ไม่ใช่เหล็ก ใบตัดโลหะบาง และแม่พิมพ์ปั๊มโลหะที่ใช้ในการขึ้นรูปเย็น ชิ้นงานที่มีจำนวนการผลิตปานกลางถึงค่อนข้างสูง
         กลุ่มที่มีธาตุผสมปานกลางชุบแข็งโดยใช้ลมเป่า ที่นิยมใช้จะเป็นเหล็กกล้าผสมเครื่องมืองานเย็นเกรด JIS SKD 12 เนื่องจากเป็นเหล็กชุบลม จึงมีการบิดตัวน้อย ชิ้นงานที่ทำจากเหล็กเกรดนี้ภายหลังการชุบแข็งจะได้ความแข็งลึก มีการเสียรูปน้อย คุณสมบัติทนการเสียดสีสูง ทนแรงกระแทกได้ดีพอใช้ ตัวอย่างชิ้นงาน เช่น เครื่องมือมีคม กรรไกรตัดเหล็ก แม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูปโลหะที่ผลิตได้เป็นจำนวนมาก
        กลุ่มที่มีปริมาณคาร์บอนสูง และผสมโครเมียมสูง ในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้งานกันมากที่สุดจะเป็นเกรด JIS SKD 11 เนื่องจากมีความเหนียวทนแรงกระแทกได้สูงกว่าเกรดอื่น ๆ ในกลุ่ม สามารถชุบแข็งได้ลึก ชิ้นงานจะมีคุณสมบัติทนการเสียดสีได้สูงมาก แต่คุณสมบัติด้านทนแรงกระแทกจะไม่สูงนัก ตัวอย่างชิ้นงาน เช่น เครื่องมือมีคมที่ใช้กับโลหะและเหล็ก แม่พิมพ์ปั๊มโลหะแผ่น แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก เป็นต้น

เหล็กกล้าผสมเครื่องมืองานร้อน (Alloy Tool Steel Hot Work)
 
     เหล็ก กลุ่มนี้จะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้งานที่ต้องสัมผัสกับความร้อนได้ดี โดยมีการเปลี่ยนรูปขณะใช้งานน้อย ทนแรงกระแทกได้ดี และมีความต้านทานต่อการอ่อนตัวที่อุณหภูมิสูง เหล็กกลุ่มนี้แบ่งออกเป็นหลายเกรด แต่ที่นิยมใช้ภายในประเทศจะเป็นเกรด JIS SKD 61 เนื่อง จากเหล็กเกรดนี้ มีความเหนียวทนแรงกระแทกได้สูงกว่าเกรดอื่น ๆ ในกลุ่ม มีความต้านทานต่อความร้อนและเย็นสลับกัน ในขณะที่ขึ้นรูปร้อนชิ้นงาน เช่น การตีขึ้นรูปร้อนชิ้นงานเหล็กกล้าที่ต้องมีการสเปรย์น้ำหล่อเย็น เพื่อไล่สะเก็ดล่อนจากผิวชิ้นงานตัวอย่างการใช้งาน เช่น แม่พิมพ์อัดขึ้นรูปร้อนอลูมิเนียม แม่พิมพ์หล่ออลูมิเนียม แม่พิมพ์ตีขึ้นรูปร้อนเหล็กกล้า (Hot Forging Dies) ชิ้นงานที่ทำจากเหล็กเกรดนี้ สามารถเพิ่มคุณสมบัติทนต่อการเสียดสีได้ ด้วยการนำไปเสริมไนโตรเจนที่ผิว (Nitriding)

เหล็กกล้าเครื่องมือความเร็วสูง (High Speed Tool Steels)

     เหล็ก ในกลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ ใช้ในงาน กลึง ไส กัด ตัด และ เจาะ ชิ้นงานโลหะด้วยความเร็วสูง ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถรักษาคมตัดได้ขณะใช้งานที่อุณหภูมิสูง เนื่องจากเหล็กในกลุ่มนี้มีธาตุผสมที่รักษาคุณสมบัติด้านความแข็งทนต่อการ เสียดสี ทนความร้อน และยังคงรักษาความเหนียวไว้ได้ ธาตุผสมที่สำคัญคือ ทังสเตน          โมลิบดินั่ม โครเมียม และโคบอลต์ เหล็กกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ทำแม่พิมพ์ปั๊มโลหะได้แก่เกรด   JIS SKH 51 เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้น จะเป็นเกรด JIS SKH 52,   SKH 55 และ SKH 59 ที่อาจจะมีใช้งานอยู่บ้างเล็กน้อย ตัวอย่างการใช้งาน เช่น ทำแม่พิมพ์อัดขึ้นรูป แม่พิมพ์ปั๊มโลหะแผ่นที่มีคุณภาพสูง ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก เป็นต้น

ซีเมนต์คาร์ไบด์ (Cemented Carbide)

     ซีเมนต์ คาร์ไบด์เป็นผงโลหะผสมของทังสเตนคาร์ไบด์และโคบอลท์ นำมาอัดขึ้นรูป แล้วใช้กระบวนการทางความร้อนที่สูงมาก อบโลหะผสมนี้ด้วยเตาสุญญากาศ จนผงโลหะผสมยึดติดกัน ทำให้ได้ซีเมนต์คาร์ไบด์ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อการเสียดสีได้สูงมาก ความแข็งของซีเมนต์คาร์ไบด์นี้จะสูงประมาณ 85-90 HRA ใช้ทำเป็นตัวแม่พิมพ์สำหรับการ ตัด เจาะโลหะแผ่น ที่มีคุณภาพและความทนทานสูงมาก แต่เนื่องจากซีเมนต์คาร์ไบด์จะมีราคาแพง จึงต้องทำเป็นชิ้นส่วนแล้วฝังลงไปในฐานเหล็กอีกที เหมาะกับแม่พิมพ์ปั๊มโลหะที่ต้องการผลิตชิ้นงานเป็นจำนวนมาก ข้อเสียของซีเมนต์คาร์ไบด์คือ เปราะทำให้ทนแรงกระแทกได้ต่ำ

เหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steels)

    เหล็ก กล้าไร้สนิมกลุ่มที่ใช้ทำแม่พิมพ์จะเป็นเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มมาร์เทนซิติก (Martensitic Stainless Steels) เหล็กกลุ่มนี้ สามารถชุบแข็งได้ เมื่อทำการอบชุบแข็งแล้วจะได้โครงสร้างมาร์เทนไซท์ เหล็กกลุ่มนี้ จะผสมโครเมียมเป็นองค์ประกอบหลักในปริมาณ 11.5-18% แม่เหล็กสามารถดูดติด สามารถขึ้นรูปร้อนได้ ถ้าทำการชุบแข็งตามอุณหภูมิ และวิธีที่ถูกต้องจะทนต่อการกัดกร่อน และต้านทานการเกิดสนิมได้ดี แต่ถ้าชุบแข็งไม่ถูกต้องอาจทำให้คุณสมบัติด้านนี้ลดลงได้ เนื่องจากถ้าการเย็นตัวในสารชุบช้าเกินไป จะทำให้เกิดคาร์ไบด์ตกผลึกตามขอบเกรน ในบริเวณนี้จะมีโครเมียมต่ำทำให้เกิดสนิมได้ ในการชุบแข็งเหล็กกล้าไร้สนิม สามารถชุบได้ทั้งลม และน้ำมัน ขึ้นอยู่กับความหนาของชิ้นงาน มักนิยมใช้ทำแม่พิมพ์ที่ใช้ฉีดพลาสติกที่มีความกัดกร่อนสูง ดังเช่น พลาสติก PVC เกรดที่นิยมใช้งานจะเป็นเกรด JIS SUS 420J2,   431 และ เกรด 440 C

โลหะผสม (Alloy Metals)

วัดสุทำแม่พิมพ์ที่เป็นโลหะผสมที่สำคัญมี ดังต่อไปนี้
   อลูมิเนียมผสม (Aluminum Alloy)  อลูมิเนียมผสมที่ใช้ทำแม่พิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นเกรด A7079-61 ข้อดีของการนำอลูมิเนียมมาทำแม่พิมพ์คือ มีความสามารถในการระบายความร้อนได้ดี มีน้ำหนักเบา คือมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของเหล็ก จึงมักนิยมทำพันซ์โฮลเดอร์ หรือ ดายโฮลเดอร์ ของแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ วัตถุประสงค์เพื่อลดน้ำหนักแม่พิมพ์ให้เบาลง นอกจากนี้ อลูมิเนียมยังเป็นโลหะที่สามารถขึ้นรูปด้วยเครื่องมือกลได้ง่ายกว่าเหล็กมาก จึงสามารถประหยัดเวลาในการขึ้นรูปแม่พิมพ์ได้มาก อลูมิเนียมผสมที่ใช้ทำแม่พิมพ์มักจะเป็นเกรด A7079 และชนิดที่คล้าย ๆ กัน คุณสมบัติของอลูมิเนียมเกรดนี้ จะใกล้เคียงกับเหล็กกล้าคาร์บอนเกรด S 50 C สามารถใช้ทำแม่พิมพ์พลาสติก ทั้งแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก และแม่พิมพ์เป่าพลาสติก ที่มีจำนวนการผลิตไม่มากนัก และเนื่องจากอลูมิเนียมผสมนี้ ทนทานต่อการกัดกร่อนจากสารเคมีได้ดี จึงใช้ทำแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก PVCได้
  โลหะผสม Beryllium Copper Alloy  โลหะผสมนี้จะใช้เป็นตัวระบายความร้อนของแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก การใช้งาน จะทำการเจาะตรงส่วนที่ต้องการระบายความร้อนของแม่พิมพ์ จากนั้น จะนำโลหะผสม Beryllium Copper Alloy ใส่ลงไป โลหะนี้จะเป็นตัวนำความร้อนที่ดีมาก จึงช่วยระบายความร้อนออกจากแม่พิมพ์ การนำโลหะผสมชนิดนี้มาใช้ จะทำให้ลดเวลาในการหล่อเย็นได้ประมาณ 40% นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมการเย็นตัวของชิ้นงานพลาสติกในแม่พิมพ์ให้มีความสม่ำเสมอกัน ทำให้ช่วยลดการบิดงอ เสียรูป และลดรอยตำหนิจากการยุบตัวของพลาสติก (Sink mark)
  โลหะผสม HZ Alloy โลหะผสมนี้ เป็นโลหะผสมของ Cu-Al-Be ที่ทนทานต่อการสึกหรอสูง โดยได้มีการพัฒนาขึ้นโดย บริษัทอู่ต่อเรือ ฮิตาชิ สำหรับคุณสมบัติทางกลของโลหะผสมนี้คือ มีความต้านทานแรงดึง 500-650 N/mm2 มีอัตราการยืดตัว 0.5-2.0% ความแข็งระหว่าง 180-400 HB การใช้งานจะใช้ทำแม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูปเหล็กล้าไร้สนิมเป็นหลัก และเนื่องจากเป็นวัสดุที่มีราคาแพง จึงใช้โลหะนี้ใส่ลงตรงผิวบน หรือ ส่วนบนของแม่พิมพ์เท่านั้น ข้อดีของโลหะผสมนี้คือ สามารถใช้ขึ้นรูปลึกแผ่นเหล็กกล้าได้ โดยไม่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่แผ่นเหล็กที่นำมาขึ้นรูป

Cr.http://plastic.freevar.com

http://plastic.freevar.com

3 ความคิดเห็น:

  1. อยากรู้ทำแม่พิมพ์เทหล่ออลูมิเนียมตามรูปรางใช้เหล็กเกรดอะไรคร้บ

    ตอบลบ
  2. SPHN คือเหล็กอะไรครับ

    ตอบลบ
  3. การช่อมแม่พิมพ์ เชื้อมแม่พิมพ์ จำเป็นต้องอบหรือไม่ครับ

    ตอบลบ